ก๊าซเรือนกระจกโลกใกล้ถึงเวลากู่ไม่กลับ
ทุกคนทราบดีว่า โลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน สาเหตุนั้นคือ ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas – GHG) กิจกรรมของมนุษย์ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ. 1850 – 1900) ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากมายสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและในน้ำทะเล จนทำให้สภาพภูมิอากาศและท้องทะเลเปลี่ยนแปลง เกิดภัยพิบัติอันยากคาดเดาทั้งถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
จึงเป็นที่รับรู้ร่วมกันผ่านทางการประชุมครั้งสำคัญหลายต่อหลายครั้งในโลกว่า ทุกประเทศต้องพยายามลด GHG ให้มากที่สุด ทว่า…ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เรากำลังเข้าสู่เส้นทาง “กู่ไม่กลับ”
ในปี 2019 ก่อนสถานการณ์ COVID-19 โลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกแตะ 35 พันล้านตันต่อปี เป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่เคยมีมา (BP Statistical Review) เมื่อเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ กิจกรรมต่างๆ ลดลงฉับพลัน ทำให้ก๊าซเรือนกระจกในปี 2020 ลดลงถึง 6% ถือเป็นการลดลงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่นักวิทยาศาสตร์เตือนเสมอว่า นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว เราจะดีใจไม่ได้เลย เพราะหลังโควิดผ่านไป หากเราไม่คิดแก้ปัญหาให้จริงจัง ก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มอีกครั้ง และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปี 2021 เมื่อหลายประเทศเริ่มปรับตัวกับสถานการณ์ได้ และพยายามฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกกลับเพิ่มขึ้น 5.6% แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์เป็นความจริง และน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าในปีนี้ เมื่อโลกเปิดมากกว่าเดิม กิจกรรมต่างๆ ดำเนินต่อไปตามรูปแบบเดิม ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจะยิ่งมากขึ้น จนทำลายสถิติเดิมในปี 2019 ได้แน่นอน
บนเส้นทางกู่ไม่กลับ การวางแผนรอบคอบและเน้นให้เกิดมรรคผลในบางด้าน คือสาระสำคัญสุดสำหรับการปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ในวันนี้และวันหน้า
ความหมายคือ โควิดแทบไม่มีผลอะไรกับการลดก๊าซเรือนกระจก และเรายังคงมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางกู่ไม่กลับต่อไป
เหตุผลสำคัญคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐกิจและวิถีชีวิตที่ต้องการพลังงานเพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น และอย่าลืมว่า คนส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในประเทศเหล่านี้ เช่น ประชากรในเขตเอเชีย/แปซิฟิกมีมากถึง 60% และมีมากกว่าทั้งยุโรปและอเมริการวมกันหลายเท่า แม้ว่าจะมีการเพิ่มการใช้พลังงานหรือกิจกรรมมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงเล็กน้อย แต่ผลรวมกลับมหาศาล
ข้อมูลสถิติบ่งบอกชี้ชัด ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกำลังลดลง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อเมริกาลดลง 1.3% ญี่ปุ่น 1.4% เยอรมัน 1.9% แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เช่น จีน 1.8% อินเดีย 4% อินโดนีเซีย 2% ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าประชากร 3 ประเทศนี้ก็มีมากเกือบ 3,000 ล้านคน เยอะกว่าประชากรในประเทศพัฒนาแล้วไม่รู้กี่เท่า
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเข้าสู่เส้นทางกู่ไม่กลับ เพราะการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องการชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มันเป็นเรื่องแสนยากและขัดต่อความเป็นจริง ทางออกสำคัญคือการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเปลี่ยนแปลง เช่น ไฟฟ้าสีเขียว เครื่องกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS – Carbon Capture & Storage) แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ถูกแน่นอน และคงมีแต่ประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถนำร่องในการใช้ได้ กว่าที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีศักยภาพในการใช้อาจต้องกินเวลาอีกพอสมควร
ทว่า…เวลาอีกพอสมควรคือสิ่งที่เราไม่มี เพราะโลกเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยวิกฤตที่ไม่แยกแยะว่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ทุกแห่งมีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบรุนแรง และมีความเสี่ยงต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจและชีวิตมหาศาล เมื่อเวลาค่อยๆ ผ่านไปเรื่อยๆ
สำหรับเมืองไทย ปริมาณก๊าซเรือนกระจกของเราอยู่ในระดับ 300 ล้านตันต่อปี ยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก เช่น เกาหลีใต้ (ประชากร 50 ล้าน น้อยกว่าไทย แต่ปล่อยปีละ 600 ล้านตันต่อปี) ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังลดลงในช่วงโควิด ก่อนเพิ่มขึ้นอีกครั้งแต่คงไม่พรวดพราด แต่ปัญหาคือเมื่อโลกจำเป็นต้องไปทางสีเขียวหนักขึ้น มาตรการรุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะในด้านการลงทุนระหว่างประเทศและการส่งออก
เราคงไม่มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเลิศเลอมากักเก็บคาร์บอนด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นไปได้ก็คงเฉพาะบางแห่ง แต่เมืองไทยโชคดีที่มีระบบนิเวศชั้นยอดในการดูดซับกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมถึง Blue Carbon ทั้งแหล่งหญ้าทะเลและป่าชายเลน นั่นจึงเป็นหนึ่งในทางออกที่เราควรให้ความสำคัญสูงสุด เพราะการรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศไว้ให้ได้ ไม่เพียงแค่ทำให้เราได้คาร์บอนเครดิตในวันหน้า ยังหมายถึงข้าวปลาอาหารแหล่งประกอบอาชีพท่องเที่ยวทำมาหากินในวันนี้ ยังหมายถึงธรรมชาติที่จะกลับมาเป็นเกราะคุ้มภัยในวันต่อๆ ไป
ที่มา : https://www.carbonmarketsclub.com/